เผยแพร่เมื่อ : พุธ 20 พฤศจิกายน 2567 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 55 คน
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้จัดกิจกรรม “นาปันสุข” ปลูกต้นรักเพื่อพ่อ ส่งต่อความสุขเพื่อแผ่นดิน ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อยกระดับศักยภาพพื้นที่และสร้างต้นแบบอยู่ดีมีสุข ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม โดยการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยและชุมชน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(ดอยสะเก็ด) โดยได้รับเกียรติจากรศ.ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา เป็นประธานในพิธีเปิด และ ผศ.ดร.ศิรประภา ชัยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากรจากกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
โดยวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นแบบอย่างแห่งความพอเพียงและความเสียสละเพื่อพสกนิกรชาวไทย และเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวข้าวใหม่ของชุมชน ประกอบด้วยพิธีแรกเกี่ยวข้าว คือเจ้าของนาจะหาวันดีเพื่อทำพิธีขออนุญาตแม่โพสพว่าจะเก็บเกี่ยวพร้อมบนบานให้ได้ผลผลิตดีและไม่ให้เกิดอันตรายระหว่างการเก็บเกี่ยว และพิธีสู่ขวัญข้าว เป็นการเรียกขวัญแม่โพสพสู่นา จะทำ 4 ช่วงเวลา ได้แก่ ตอนไถหว่านครั้งแรก ตอนข้าวเริ่มตั้งท้องตอนเก็บเกี่ยว และตอนขนข้าวเข้ายุ้งฉาง
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) มุ่งเน้นการถ่ายทอดวิถีการผสมผสานของเกษตรทฤษฏีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับศักยภาพพื้นที่และสร้างต้นแบบอยู่ดีมีสุข ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ โดยการนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาและลงมือทำจริงได้เกิดความเข้าใจสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ โดยนำเอาเทคโนโลยีและแผนการบริหารจัดกการใช้ประโยชน์พื้นที่เหมาะสม มาเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริม พัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา