เผยแพร่เมื่อ : พุธ 9 กรกฎาคม 2568 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 77 คน
วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรจักร์ เมืองใจ หัวหน้ากลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี นำคณะทำงานกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ร่วมกับบุคลากร สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน และกองประชาสัมพันธ์ ร่วมขับเคลื่อนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี ณ ลานสวนกุหลาบ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสวนกุหลาบหลวงห้วยผักไผ่ ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เป็นแหล่งเพาะปลูกกุหลาบคุณภาพสูง มีศักยภาพในการนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง
คณะทำงานได้เข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประเด็นและข้อมูลการขับเคลื่อนการดำเนินงานกิจกรรม และร่วมหารือแลกเปลี่ยนโจทย์ปัญหาในพื้นที่ร่วมกับ นางยาณี ศรีเพ็ญ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงโดยคณะทำงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนการประชุม รับทราบปัญหา บันทึก จัดเก็บข้อมูลความก้าวหน้าและถ่ายทำวีดิทัศน์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล เผยแพร่ สร้างการรับรู้ การดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ควบคู่กับการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
กิจกรรมประกอบด้วย
1)สร้างกลไกการติดตามความก้าวหน้า และประเมินผล เพื่อยกระดับผลการดำเนินงานโครงการ
2)ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดงานวิจัย และงานบริการวิชาการที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่
3)เกิดการพัฒนาโครงการและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอก
4)สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของบุคลากร อาจารย์ นักวิจัย ในการทำงานร่วมกับชุมชน และเชิงพื้นที่
ในโอกาสนี้ ดร.ณัฐธินี สาลี อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมและนวัตกรรมการผลิตอาหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ หัวหน้าโครงการวิจัยและต่อยอดน้ำสกัดกุหลาบ (Rose Hydrosol) ด้วยเทคนิคการผลิตเม็ดบีดส์ไซรัปกุหลาบ เพื่อเพิ่มมิติและความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ของสวนกุหลาบห้วยผักไผ่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง และคณะนักวิจัย นำผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนประกอบจากน้ำสกัดกุหลาบ โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตเม็ดบีดส์ไซรัป (Beads Encapsulation) มาใช้ในการกักเก็บกลิ่น รส คงความเอกลักษณ์ของไซรัปกุหลาบมีความคงตัวสูง ป้องกันการเสื่อมสภาพจากความร้อนหรือแสง โดยคณะทำงานโครงการนำหลักการของ (Reverse Spherification) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเม็ดบีดส์ไซรัปกุหลาบ (Rose Syrup Beads) เพื่อเพิ่มความคงตัวของกลิ่น รส ของไซรัปกุหลาบ พัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดบีดส์ไซรัปให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้งเสริมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สอดคล้องตามหลัก (SDGs) เป้าหมายที่2 พัฒนาเทคโนโลยี
เพื่อช่วยในการยกระดับโภชนาการและสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีประโยชน์ พร้อมนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดกลไกการต่อยอดและนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มทางเลือก และเพิ่มมิติด้านอาหารให้เกิดความน่าสนใจ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในชุมชน
ภาพ:กองประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา
ข้อมูล/เรียบเรียง:กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา