เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 14 พฤศจิกายน 2565 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 3891 คน
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะและการที่ทรงสละเวลาส่วนพระองค์แม้ในยามดึกดื่นค่ำคืนอย่างเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ พระวรกายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อนพืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า ”สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง” ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็น ในขณะนั้นให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและบุคลากรกลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าและเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่านที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- http://huahin.royalrain.go.th/prabidaday.php
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา