โลโก้เว็บไซต์ คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา และกลุ่มงานใต้ร่มพระบารมี สร้างความร่วมมือ กับสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ) แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริหารจัดการ และสร้างคุณค่าแห่งการขับเคลื่อน | กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี

คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา และกลุ่มงานใต้ร่มพระบารมี สร้างความร่วมมือ กับสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ) แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริหารจัดการ และสร้างคุณค่าแห่งการขับเคลื่อน

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 4 กรกฎาคม 2566 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 613 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จัตตุฤทธิ์  ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา, ผู้ช่วยศาสตรจารย์วรจักร์  เมืองใจ ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าแผนงานใต้ร่มพระบารมี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระศักดิ์  สมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยคณะทำงานใต้ร่มพระบารมีฯ มทร.ล้านนา ได้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยน และหารือการพัฒนาระบบบริหารการจัดการ ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด CESi (Clean Energy Systems Integration Laboratory) โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุสาห์  บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนและการดำเนินงาน ข้อมูลพันธกิจและงานวิจัย ประวัติความเป็นมาของห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาดเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางวิทยาการการบูรณาการระบบพลังงานสะอาด อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและคณะทำงาน ได้หารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริหารจัดการ และแนวทางการขับเคลื่อนผ่านพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านวิชาการ และหารือสร้างความร่วมมือในอนาคต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมาย และตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัย รวมทั้งกระบวนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและทดสอบ เพื่อการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ทางด้านการบูรณาการพลังงานชุมชนในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ที่ครอบคลุมถึงด้านวิศวกรรม ผลกระทบทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์ สามารถนำไปเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนเพื่อผลักดันใช้ประโยชน์ ในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพระราชดำริ โดยทางหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด ได้นำคณะฯศึกษางานวิจัยด้านการผลิตไฟฟ้า พร้อมด้วยอธิบายและสาธิตการทำงานของงานวิจัยและกิจกรรมบริการวิชาการสู่ชุมชน มีรายละเอียด ดังนี้
          · ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึก แบบผลึกบาง ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบ 2 แกน ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบแกนเดียว
          · ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันน้ำขนาดเล็ก ประกอบด้วยกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าแบบเพลตัน (Pelton) แบบใบพัด (Propeller) แบบกระแสน้ำไหล (Hydrokinetic) แบบน้ำขึ้น-น้ำลง (Tidal)
          · ระบบกักเก็บพลังงาน ประกอบด้วยแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด และระบบอากาศอัด

          จากนั้น คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) CSSC (CES Solar Cells Testing Center) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ, ดร.ฐนกกร เจนวิทยา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบทดสอบและผู้จัดการฝ่ายแผนงาน, ดร.มานิตย์ สีแป้น ผู้จัดการฝ่ายทดสอบ, อาจารย์บัลลังก์ หมื่นพินิจ และอาจารย์เยาวณี แสงพงศานนท์ ร่วมให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ CSSC โดยทาง ดร.ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์ฯให้เกียรติคณะทำงานอธิบายและให้ข้อมูลพันธกิจและงานวิจัย ประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งศูนย์ฯ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีมีประเด็นหารือและแลกเปลี่ยนร่วมกัน การพัฒนาระบบบริหารจัดตั้งศูนย์พัฒนาและทดสอบ การวัดวางห้องปฏิบัติการ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบและวิจัยรวมทั้งกระบวนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและทดสอบให้เป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์ประกอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (BOS) เป็นต้น และการให้บริการวิชาการ บริการอุตสาหกรรม รับงานที่ปรึกษา ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนทำงานวิจัย และพัฒนาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยได้รับการรับรองตามข้อกำหนดห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐานISO/IEC17025:2005 และระบบบริหารงานคุณภาพ ISO9001:2015 จากนั้นทางคณะทำงานจาก CSSC ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ มทร.ล้านนา ศึกษาการทดสอบในสภาวะเลียบแบบใกล้เคียงสภาวะจริงในแผงโซล่าเซลล์ในรูปแบบต่างๆ ตามมาตรฐาน





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา