โลโก้เว็บไซต์ 19 ตุลาคม 2566 วันเทคโนโลยีของไทย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยะภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  | กลุ่มแผนงานใต้ร่มพระบารมี

19 ตุลาคม 2566 วันเทคโนโลยีของไทย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยะภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 18 ตุลาคม 2566 โดย วรรธนพงศ์ เทียนนิมิต จำนวนผู้เข้าชม 1724 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          19 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย หลังทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ ข้าราชการและพสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515

          การสาธิตฝนเทียมครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมมาถึงปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

ฝนเทียม สิ่งประดิษฐ์เพื่อมวลมนุษย์ 

          ด้วยทรงเห็นว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความแห้งแล้งมาเป็นเวลานาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริฝนหลวง หรือฝนเทียมขึ้น โดยใช้กรรมวิธีการสร้างฝนจริง ๆ อาศัยไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ คือ ก้อนเมฆซึ่งในหน้าแล้งมักจะลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป โดยไม่กลายเป็นน้ำฝน และใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบิน เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ทำให้ก้อนเมฆโตขึ้น และสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงลมช่วยลดระดับของก้อนเมฆที่โตขึ้น จนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ 
          โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรของฤดูกาลตามธรรมชาติ ฝนหลวงจึงเปรียบเสมือนน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทานจากฟ้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรและประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพิงการเกษตรกรรมเป็นหลัก

พระปรีชาของพระบิดาแห่งเทคโนโลยี นอกจาก "โครงการฝนหลวง" แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริ และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หลายด้าน เช่น

          - กังหันน้ำชัยพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย

 

          - โครงการแกล้งดิน : ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ "วิศวกรรมย้อนรอย" หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ จนทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ขอน้อมนำ สานต่อ ศาสตร์พระราชา นำความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาปรับใช้ในการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพระบบนิเวศในชุมชนพื้นที่โครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัดช่วยทุ่นแรงงาน และมุ่งพัฒนาคนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

แหล่งที่มา : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , มูลนิธิชัยพัฒนา




ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา